สกู๊ปพิเศษทงอี(จบ) วาระสุดท้ายของจอมสตรีในวัง/ต่อพงษ์

ผมนึกขึ้นมาได้แล้วละครับว่า ผมสนุกกับละครเกาหลีอย่าง “ทงอี” นั้น เพราะมันมีส่วนผสมของหนังซีรีส์ฝรั่งอย่าง Leverage ผสมกับ CSI อยู่ นางเอกนั้นเก่งแบบ CSI แต่การเดินเรื่องเอาแบบ Leverage เลย นั่นคือมีการแอบเซตแผนไว้ล่วงหน้าเพื่อให้ฝั่งสนมจางติดกับดักทุกแบบ

สัปดาห์ที่ผ่านมานี้ตัวละครก็พร้อมใจกันหลอกคนดูทั้งบาง เพราะไอ้ที่คิดว่าบันทึกจะถูกขโมยก็กลายเป็นแผนจับโจรทั้งคอก เล่นเอากองเชียร์ที่บ้านผมตกอกตกใจและพร้อมใจกันด่าตัวละครในเรื่องว่า โง่ชิบเป๋ง ตามด้วยการให้คนเขียนบทขยี้ในจังหวะที่พระมเหสีกึ่งๆ รับสารภาพว่าเกี่ยวข้องกับการขายชาติโดยมีกษัตริย์ซุกจงรับฟังอยู่เต็มสองบ้องหู ก็ต้องยอมรับว่าคนเขียนบทแกซาดิสต์ดีมาก เพราะในเรื่องนี้ถ้าใครลองเพลี่ยงพล้ำขึ้นมาในวันนั้นๆ คนเขียนแกจะกระทืบให้คนแพ้ยิ่งกระอักเลือด ทรมาน และจมดินยิ่งกว่าเดิม

สิ่งหนึ่งที่ประวัติศาสตร์บันทึกไว้ก็คือ เหตุการณ์นี้เป็นความพยายามเล่นเกมแห่งอำนาจโดยพระเจ้าซุกจงเอง เพื่อดึงคนหนุ่มๆจากฝ่ายตะวันตกให้กลับมาพร้อมกับล้างบางนักการเมืองฝ่ายใต้ที่ครอบงำพระองค์มาตั้งแต่ยังเป็นรัชทายาท ซึ่งในประวัติศาสตร์บอกไว้ว่า ในปี ค.ศ. 1694 พระมเหสีจางโดนลดชั้นลงมาเหลือแค่เป็นสนมจางฮุยบินเหมือนเดิม และพระมเหสีอินฮยอนก็ได้กลับมาดำรงตำแหน่งเหมือนเดิม และสิ่งหนึ่งที่ยังทำให้สนมจางยังอยู่ในวังได้ก็เพราะเธอเป็น “แม่ของรัชทายาท” พระองค์ต่อไป ขณะที่ในปี ค.ศ. 1695 ทงอีก็ได้เลื่อนขั้นขึ้นไปสู่ตำแหน่งสนมกวี-อิน และหลังจากอยู่ในตำแหน่งนั้นได้ 4 ปี เธอก็ได้เลื่อนขั้นเป็นสนมชั้นสูงสุด นั่นคือระดับ “บิน” พูดง่ายๆ ก็เท่ากันกับสนมจางฮุยบินศัตรูคู่แค้นในละครนั่นเอง แต่ทงอียังมีราชทินนามว่า “ซุก” อันหมายถึง บริสุทธิ์ ซึ่งก็ถือว่าได้รับเกียรติสูงสุด…จะเป็นรองก็แค่พระมเหสีเท่านั้น


อย่างที่ย้ำให้ฟังเสมอว่า ปัญหาเรื่อง “รัชทายาท” ของโชซอนนั้นมีมาตลอดนับตั้งแต่ตั้งราชวงศ์จนกระทั่งเป็นเมืองขึ้นของญี่ปุ่นสมัยที่ญี่ปุ่นทำสงครามกับรัสเซียและครอบครองเกาหลีให้เป็นประเทศใต้อาณัติในที่สุด ซึ่งละครประวัติศาสตร์ของเกาหลีนั้นเกิน 90 เปอร์เซ็นต์จะว่าด้วยเรื่องของการสู้รบปรบมือและแย่งชิงราชบัลลังก์ทั้งนั้น

เข้าใจว่าประเดี๋ยวละครทงอีเขาจะยืดเรื่องกันสุดๆ แล้วละครับ เพื่อให้ชะตาชีวิตของทงอีไม่ได้พบกับความสุขตามประวัติศาสตร์จริง ก็เลยขอรวบรัดตัดความตรงนี้ว่า การที่กษัตริย์ซุกจงยังคงให้สนมจางประทับอยู่ในวังและไม่ประหารจางฮีเจพี่ชายตัวแสบไปเสียพร้อมกับนักการเมืองก๊กฝ่ายใต้ก็เป็นที่น่าสงสัยอยู่ และปัญหาเรื่องรัชทายาทนี้ก็ยังทำให้การเมืองในวังวุ่นวายไม่รู้จบ

ผมเข้าใจว่าในละครนั้นเขาจะให้รายละเอียดแค่ว่า พระมเหสีอินฮยอนสุขภาพไม่ดีแล้วก็ตายในวัง เรื่องจริงในประวัติศาสตร์ก็คือ พระนางเสียชีวิตในวันที่ 16 กันยายน ค.ศ. 1701ขณะที่อายุได้แค่ 34 ปี แต่ก็มีนักประวัติศาสตร์ตั้งข้อสังเกตไว้เหมือนกันว่า อาจจะเป็นเพราะพระนางโดนวางยาพิษ เพราะเอาเข้าจริงถึงแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงในวังอย่างไร แต่คนที่อยู่ฝั่งสนมจางก็ยังคงมีตำแหน่งแห่งที่ซึ่งพอจะวางยาสั่งให้แก่ใครก็ได้

เรื่องการใช้ยาพิษ อาหารเป็นพิษ หรืออาหารที่จะทำให้หยินพร่อง หยางเพิ่มอะไรพวกนี้ในราชสำนักเกาหลีทำกันเป็นล่ำเป็นสันอยู่แล้ว แถมยังมีความก้าวหน้ามากถึงขนาดใช้ทำให้บรรดาเมียๆ ของกษัตริย์แท้งลูกกันเป็นแถวด้วย เพราะฉะนั้นจะวางยามเหสีจึงไม่ใช่เรื่องยากเลย เพียงแต่จะกล้าหรือเปล่าเท่านั้น

ผลจากการตายของพระมเหสีทไห้เกิดการล้างบางอีกครั้งโดยองค์กษัตริย์ซุกจงเอง ซึ่งตามประวัติศาสตร์ที่บันทึกไว้ออกจะสนุกกว่าในละคร โดยเขาบันทึกไว้ดังนี้

“ในช่วงเวลาที่กษัตริย์ซุกจงกำลังเศร้าพระทัยเกี่ยวกับการจากไปของพระมเหสีนั้น คืนหนึ่งขณะกำลังบรรทมอย่างสนิท ก็เกิดฝันเห็นพระมเหสีอินฮยอนเดินมาหาพระองค์ด้วยชุดเต็มยศแต่โชกไปด้วยเลือด ซุกจงได้ถามนางว่า นางตายด้วยสาเหตุอะไร ศพที่โชกเลือดนั้นไม่ตอบ นางร้องไห้และชี้มือไปที่ตำหนักของสนมจางแล้วก็หายตัวไป ซุกจงก็ตื่นขึ้นแล้วค่อยๆ เดินไปตามทิศทางที่วิญญาณของพระมเหสีบอก ไม่นานซุกจงก็ได้ยินเสียงหัวเราะ เสียงเคาะไม้ และเสียงภาวนาสาปแช่ง เมื่อแอบมองเข้าไป พระองค์ก็เห็นด้วยพระองค์เองว่า สนมจาง พี่ชายของนาง และหมอผีร่วมกันทำพิธีสาปแช่งทรมานวิญญาณ เพราะในมือของคนเหล่านั้นกำลูกศรแล้วทิ่มปักไปบนรูปวาดของพระมเหสีกันอย่างเมามัน”

เรื่องผีมาบอกความจริงนี้จะจริงหรือเท็จก็ไม่ทราบ แต่ที่แน่ๆ บาปแห่งการฆ่าคนตายก็ตกมาอยู่กับแก๊งจางที่ว่า ผลก็คือการกักขังตัวสนมจางเพื่อสอบสวนเรื่องนี้อยู่เป็นเวลานาน 1 เดือน จนสุดท้ายก็มีการประหารชีวิตด้วยการประทานยาพิษให้ดื่มในวันที่ 10 ตุลาคม ค.ศ. 1701 เรียกว่าตายตกตามกันไปอย่างรวดเร็ว ส่วนแก๊งฝ่ายใต้ที่ยังเหลืออยู่โดยเฉพาะในวังก็ถูกจัดการเสียเรียบวุธในช่วงนี้อีกเช่นกัน

เรื่องน่าตื่นเต้นตรงนี้มีอยู่เกี่ยวกับเรื่องรัชทายาท เพราะในละครนั้นเข้าใจว่าจะอธิบายไม่ค่อยละเอียดเท่าในประวัติศาสตร์ที่บันทึกไว้ โดยในละครอธิบายว่า“องค์ชาย Yi Kyon“ ลูกของสนมจางที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัชทายาทพระองค์แรกนั้น ละครบอกว่าแกเป็นหมันหรือไม่ก็ไม่มีความรู้สึกทางเพศซึ่งไม่สามารถสืบวงศ์ตระกูลต่อไปได้

ส่วนในประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่า จริงๆ องค์ชายผู้นี้ไม่ได้เป็นหมันแต่เกิดครับ แต่แกโดนสนมจางซึ่งเป็นแม่ของตัวเองทำร้ายเอาระหว่าง 1 เดือนที่ถูกกักตัวสอบสวนในพระตำหนักนั่นเอง อาการที่ถูกทำร้ายนี้ตอนแรกเห็นว่าหวิดจะเป็นอัมพาต จนเมื่อสามารถลุกเดินเล่นได้ แต่ก็ไม่สามารถบังคับให้อวัยวะเพศแข็งตัวได้ การวิเคราะห์โดยคนรุ่นใหม่บอกว่าน่าจะเป็นเรื่องของการกลัวผู้หญิงมากกว่า หรือเป็นปมทางด้านจิตเพราะโดนแม่ทำร้ายจนยับเยิน กระทั่งทุกครั้งที่เข้าใกล้ผู้หญิงพระองค์จะต้องมีอาการฝ่อเรื่อยไป

คือถ้าพระองค์อยู่ในสมัยนี้แล้วได้รับการรักษาจากหมอนกเขาในเมืองไทย...ปัญหาก็คงจะหมด

แต่กระนั้นองค์ชายลีคยอนก็ยังได้เป็นกษัตริย์มีพระนามว่า “คยอนจง” แต่ก็ครองราชย์ได้แค่ 4 ปีเท่านั้นก็สวรรคต ในปี ค.ศ. 1724 ขณะมีอายุแค่ 36 ปีเท่านั้น แต่ส่วนหนึ่งที่อยู่ในบัลลังก์นกยูงทองนี้ในระยะสั้นมากก็เพราะ กษัตริย์ซุกจงมีสุขภาพที่ดีมากและไม่ยอมสละบัลลังก์ง่ายๆ ตรงกันข้ามกับพระองค์ที่อ่อนแอทั้งกายและใจ และการตายของกษัตริย์คยอนจงก็ทำให้ลูกของทงอีได้ก้าวขึ้นมาครองราชย์ต่อไปในนามกษัตริย์ยองโจซึ่งเป็นกษัตริย์ที่เก่งมากที่สุดพระองค์หนึ่งของโชซอน

กลับมาที่สตรีคนสุดท้ายที่เหลืออยู่ นั่นคือ ทงอี หรือสนมชอยซุกบิน โดยเธอเสียชีวิตในวันที่ 9 มีนาคม ปี ค.ศ. 1718 ซึ่งเป็นปีที่ 44 ในรัชสมัยของพระเจ้าซุกจง แถมหลังจากที่ตายแล้ว ทงอียังได้เลื่อนขั้นอีกหลายชั้นเพราะนางเป็นพระมารดาของกษัตริย์ยองโจนั่นเอง

คำถามก็ต้องมีแน่ว่า แล้วพอหลังจากทั้งพระมเหสีอินฮยอนตาย และพระสนมจางถูกประหาร จนเหลือทงอีที่ตามเรื่องบอกว่าเป็นสุดที่รักคนเดียวนั้น กษัตริย์ซุกจงยังแต่งกับใครอีกไหม คำตอบก็คือมีครับ จริงๆ พระองค์ก็มีคนอื่นๆ อีกตั้งแต่ปี ค.ศ 1702 หลังจากที่คืนตำแหน่งพระมเหสีให้แก่อินฮยอนแล้วเพียงปีเดียว พระองค์ก็ได้ “นางคิมอินวอน” อีกคนซึ่งตอนรับเข้ามาเป็นนางห้ามนั้นคิมอินวอนมีอายุแค่ 15 ปีเอง และเมื่อพระมเหสีอินฮยอนตาย พระองค์ก็แต่งตั้งให้คิมอินวอนขึ้นเป็นพระมเหสีในรัชสมัยของพระองค์อีกคน นอกจากนั้นในปี ค.ศ. 1707 ก็ยังรับสตรีอีกคนเป็นนางใน ซึ่งเรียกกันเฉพาะแซ่ว่า ยู ในตำแหน่ง “โซอุย” ก็เป็นนางในอีกขั้นหนึ่ง และในปี ค.ศ. 1712 ยังมี “นางในแซ่คิม” อีก 1 คน ซึ่งได้ดำรงตำแหน่ง “กวีอิน” คนสุดท้ายแซ่ปัก คนนี้ไม่มีประวัติอะไรนอกจากดำรงตำแหน่งเมียงบิน นางในเหล่านี้คนสุดท้ายแซ่ปักได้ให้กำเนิดบุตรชายอีกคนแก่กษัตริย์ซุกจงในนาม เจ้าชาย Yeonryeong ( เกิด ค.ศ. 1699 – ตาย ค.ศ. 1719)

สรุปก็คือ กว่าพระองค์จะตายก็ตั้งปี ค.ศ. 1720 พระองค์มีภรรยาทั้งสิ้น 10 คนมีบุตรชายตั้ง 6 คนแต่เหลือรอดมาจริงๆ แค่ 2 ที่เหลือเสียชีวิตก่อนเสด็จพ่อทั้งนั้น
ที่มาโดย ASTVผู้จัดการออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น: